Press/กด CtrlหรือCmd + P to print
or save as PDF

การจัดการสภาพคล่องทางการเงินสำหรับ ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก

Last modified: December 26, 2018
You are here:
  • KB Home
  • การจัดการสภาพคล่องทางการเงินสำหรับ ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก
Estimated reading time: 6 min

บทคัดย่อ

                        บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการ SMEs  ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ สถาบันการเงินและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันในการวางแผนและดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านการจ้างงาน การเชื่อมโยงการค้ากับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และการกระจายความเจริญไปยังส่วนภูมิภาค โดยได้กล่าวถึงแนวทางในการนำองค์ความรู้ในการบริการสภาพคล่องทางการเงินในด้านการบริหารเงินสดและการบริหารทุนหมุนเวียนไปปฏิบัติ  นอกจากนี้ได้กำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการวางแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

        วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติภาวะเงินฝืดของญี่ปุ่นซึ่งเกิดขึ้นมากว่า 20 ปี  วิกฤติการณ์ทางการเงินในประเทศไทย ใน ปี พ.ศ. 2540 วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี พ.ศ.2551วิกฤติหนี้สาธารณะของกรีซ ในปี พ.ศ.2554  วิกฤติเศรษฐกิจของตลาดหุ้นของจีน ในปี พ.ศ. 2557  และวิกฤติภาวะค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย ในปี พ.ศ.2557    วิกฤติการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs โดยผลกระทบที่สำคัญ คือ ผลกระทบต่อการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องประสบปัญหาในการดำเนินกิจการและบางรายต้องเลิกกิจการไปในที่สุด

        ดังนั้นการให้องค์ความรู้ในทางปฏิบัติได้จริงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในการจัดการสภาพคล่องจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการบริหารเงินสด โดยการเร่งเงินสดรับเข้า ชะลอการจ่ายเงินสดและการดำรงรักษาเงินสดขั้นต่ำ  การบริหารทุนหมุนเวียนผ่านแนวนโยบาย 3 รูปแบบ คือ 1. นโยบายแบสมดุล 2. นโยบายแบบระมัดระวัง  และ 3. นโยบายแบบกล้าเสี่ยง  ในขณะที่สถาบันการเงินและหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จะต้องมีมาตรการและนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านทางนโยบายอัตราดอกเบี้ย  นโยบายด้านภาษี  และมาตรการในการสร้างความเข้มแข็งในระยะยาวอื่นๆ เช่น การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs  การจัดหาแหล่งทุน  การสร้างนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น  แนวทางทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้และนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาวให้เติบโตอย่างมั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป

คำสำคัญ: ผู้ประกอบการ SMEs, วิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลก, การจัดการสภาพคล่อง, การบริหารเงินสด, การบริหารทุนหมุนเวียน

หัวหน้าภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสยาม

Abstract

                                    This paper has been written to give a guideline for SMEs entrepreneurs, LEs entrepreneurs, financial institutions and government sectors that engaged to plan and operate anything to help SMEs entrepreneurs that are the crucial mechanism to develop Thais economy especially employment, trade networking with LEs entrepreneurs and spread prosperity to regional area. This paper acknowledges and practices SMEs entrepreneurs about financial liquidity management especially on cash management and working capital management. Moreover, this papers also give the feedback policy for LEs entrepreneurs, Financial institutions and Government sectors to plan together to help SMEs entrepreneurs in a concrete.

        Recently, world economic crises have been occurred several times such as the deflation crisis in Japan occurred for more than 20 years, Financial crisis in Thailand in 1997, and the sub-prime crisis in U.S.A in 2007, the public debt crisis in Greece in 2011, the capital market crash in China in 2014 and the Ruble crisis in Russia in 2014. The crises, therefore, have caused severe impacts to many Thai entrepreneurs, especially SMEs. The major impact is the problem of financial liquidity that causes SMEs to shut down their businesses.

        Hence, providing practical knowledge to SME entrepreneurs for managing their liquidity both cash management and working capital management is by far important. For cash management, this paper recommended to accelerate cash-inflow, decelerate cash-outflow and maintain minimum cash balance and for working capital management, this paper recommended 3 policies that are  1.Hedging  Policy  2.Conservative  Policy  and 3.Aggressive Policy. Simultaneously, the financial institutions and the government sectors  must also offer the entrepreneurs policies or measures of assistance through interest rate policy, tax policy, and long term strengthening measures, namely, building SMEs networking, fund raising for SMEs, and innovation for SMEs by way of R&D policy. All of these policies and measures will promote and strengthen SMEs of Thai entrepreneurs to endure world economic crises, be able to compete in the world market, and drive Thai economy to grow securely and sustainably according to the Thai government policy.

       

Keywords: SMEs entrepreneurs, world economic crises, financial liquidity management, cash management, working capital management

บทนำ

                        ผู้ประกอบการ SMEs ถือเป็นกลไกสำคัญหนึ่งของภาคธุรกิจไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถเติบโตไปได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน  โดยผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ  ดังนั้นผู้ประกอบการ SMEs จึงมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศที่เด่นชัดใน 4 ด้าน คือ 1. ด้านการสร้างงานใหม่ให้เกิดขึ้นกับประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs  จะใช้เงินลงทุนไม่สูงและมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในวิสาหกิจขนาดใหญ่  ขณะเดียวกันจะมีความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน  ทำให้ลูกจ้างที่ธุรกิจส่วนหนึ่งที่มีความพร้อมออกมาเป็นผู้ประกอบการ SMEs  และทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น  2. ผู้ประกอบการ SMEs มีการเชื่อมโยงธุรกิจของตนเข้ากับวิสาหกิจขนาดใหญ่   ในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การรับช่วงผลิต  การเป็นเครือข่ายในการค้าปลีกและค้าส่ง  การเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ เป็นต้น เครือข่ายเหล่านี้ทำให้เกิดการเชื่อมต่อของโซ่อุปทานที่นำไปสู่ความเข้มแข็งในระบบเศรษฐกิจ  3. ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความเข้มแข็งจะช่วยบรรเทาและรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติได้  ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่จะช่วยพยุงภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้ทรุดตัวลงน้อยกว่าที่ควรจะเป็นได้  4. ผู้ประกอบการ SMEs  จะช่วยกระจายความเจริญเติบโตไปยังชุมชนและสังคมในระดับย่อยในพื้นที่ต่างๆ ได้ครอบคลุมมากกว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่ โดยจะพบว่าในพื้นที่ที่ความเจริญทางเศรษฐกิจบางพื้นที่เกิดจากการที่ผู้ประกอบการ SMEs เข้าไปสร้างให้เกิดขึ้น  

        ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติภาวะเงินฝืดของญี่ปุ่นซึ่งเกิดขึ้นมากว่า 20 ปี  วิกฤติการณ์ทางการเงินในประเทศไทย ใน ปี พ.ศ. 2540 วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี พ.ศ.2551 วิกฤติหนี้สาธารณะของกรีซ ในปี พ.ศ.2554  วิกฤติเศรษฐกิจของตลาดหุ้นของจีน ในปี พ.ศ. 2557  และวิกฤติภาวะค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย ในปี พ.ศ.2557  รวมถึงวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอันเกิดจากภาวะการหดตัวของกำลังซื้อผู้บริโภคทั่วโลกทั้งในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่นและจีน  ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างมาก  และผลกระทบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับวิสาหกิจขนาดใหญ่เท่านั้น  ได้ส่งผลต่อผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในภาคการส่งออก-นำเข้า  ภาคการค้าและการบริการ  โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ยอดขายของผู้ประกอบการ SMEs ลดลงอย่างรุนแรงอันเนื่องจากส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการ SMEs เหล่านี้เป็นผู้ส่งออกเองหรือบางส่วนเป็นเครือข่ายของวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน  ภาวะที่ผู้ประกอบการ SMEs มียอดขายลดลงนำไปสู่สภาวะการขาดสภาพคล่องในการดำเนินงาน เนื่องจากต้นทุนส่วนหนึ่งยังคงอยู่ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง  ค่าเช่า  หรือต้นทุนค่าเสื่อมราคาในสินทรัพย์ที่ลงทุนไป   ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนหนึ่งต้องลดค่าใช้จ่ายลงโดยการเลิกจ้างพนักงาน หรือแม้กระทั่งต้องเลิกกิจการไปในที่สุด ดังนั้นปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องเลิกกิจการไป ผลงานวิจัยในเรื่องของปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs ที่ยืนยันว่าปัญหาทางการเงินที่สำคัญของผู้ประกอบการ SMEs คือ การขาดสภาพคล่องทางการเงิน อาทิเช่น ผลการศึกษาวิจัยของ อังสนา ประสี และ ขจรวรรณ อิฐรัตน์  (2551) ได้ทำการศึกษาเรื่อง ปัญหาการดําเนินงานและความต้องการการสนับสนุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในจังหวัดนครสวรรค์ พบว่าสภาพธุรกิจในปัจจุบันมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงส่วนใหญ่จะประสบปัญหาทางด้านการเงิน การขาดสภาพคล่อง   เงินทุนไม่เพียงพอ และขาดแหล่งเงินทุน  ในขณะที่นันทนา คินิมาน (2546) ได้ทำการศึกษา เรื่อง ความต้องการพัฒนาศักยภาพในการประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งประเภทกิจการการผลิต การค้าปลีก การค้าส่ง และการบริการส่วนใหญ่พบปัญหาสำคัญที่สุด คือ เงินทุนหมุนเวียนมีไม่เพียงพอ  นอกจากนี้ บทความของศิริวรรณ ว่องวีรวุฒิ และอารมณ์  ริ้วอินทร์ (2554) เรื่อง เงินทุนหมุนเวียน ทางเลือกและทางรอดของ SMEs ได้ให้ข้อสรุปที่สำคัญว่า  เงินทุนหมุนเวียนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อความอยู่รอดและเจริญเติบโตของ SMEs ในภาวะวิกฤติและภาวะปกติ

        ดังนั้นในการดำรงสภาพคล่องให้คงอยู่และทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถยืนหยัดต่อไปได้ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านของการบริหารเงินทุนหมุนเวียน  และการบริหารเงินสดซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงสภาพคล่องไว้  โดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงิน และหน่วยงานรัฐในการสนับสนุนด้านต่างๆ ทั้งในรูปแบบของการสนับสนุนทางการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Bank)  ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (ธสน.)  หรือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ทำหน้าที่ในการค้ำประกันหลักทรัพย์ให้กับผู้ประกอบการ SMEs  ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการ SMEs จะต้องมีองค์ความรู้ในการบริหารสภาพคล่องและนำมาใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมไปพร้อมกันด้วย

บทความฉบับนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ไปใช้ประกอบในการบริหารจัดการบทบาทและหน้าที่ทางการเงินในองค์การของตนเองให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยเนื้อหาจะมุ่งเน้นไปที่การนำแนวคิดในการบริหารการเงินสำหรับธุรกิจ มาประยุกต์และปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารการเงินด้านการบริหารทุนหมุนเวียนและการบริหารเงินสด 

  1. วัตถุประสงค์
  2. เพื่อนำเสนอแนวคิดในด้านการจัดการสภาพคล่องในด้านต่างๆ อาทิเช่น การบริหารเงินสดและการบริหารทุนหมุนเวียน  ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในการนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในองค์การของตนเองเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาด้านการเงินได้อย่างเหมาะสม
  3. เพื่อเป็นแนวคิดให้กับสถาบันการเงินในการบริหารจัดการและดูแลผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถยืนหยัดและอยู่รอดไปได้ภายใต้ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก
  4. เพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อภาครัฐในการนำแนวคิดด้านการจัดการสภาพคล่องไปใช้ในการกำหนดนโยบายและแผนในการบริหารการเงินสำหรับผู้ประกอบการ SMEs
    1. ขอบเขตของเรื่อง

        การนำแนวคิดและทฤษฏีทางการเงินด้านต่างๆ ของการจัดการสภาพคล่องทางการเงิน ในด้านการบริหารเงินสดและการบริหารทุนหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้กับผู้ประกอบการ SMEs  เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถผ่านวิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้และในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ต่อไป

  1. คำจำกัดความสำคัญ
  2. ผู้ประกอบการ SMEs หมายถึง ผู้ประกอบการในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามนิยามของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)* ได้นิยามไว้ดังนี้
  3. กิจการผลิตสินค้า หมายความครอบคลุมถึง การผลิตที่เป็นลักษณะของการประกอบการอุตสาหกรรมทุกประเภท โดยมีข้อกำหนดสำหรับวิสาหกิจขนาดย่อมกำหนดจำนวน             การจ้างงานไม่เกิน 50 คน หรือมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดกลาง จำนวนการจ้างงาน 51-200 คน หรือมูลค่าสินทรัพย์ถาวรเกิน 50 แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท
  4. กิจการการบริการ หมายความครอบคลุมถึง การศึกษา การสุขภาพ การบันเทิง การขนส่ง การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ การโรงแรมและหอพัก การภัตตาคาร การขายอาหาร การขายเครื่องดื่มของภัตตาคารและร้านอาหาร การให้บริการเช่าสิ่งบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจ การให้บริการส่วนบุคคล บริการในครัวเรือน บริการที่ให้กับธุรกิจ การซ่อมแซมทุกชนิด และการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยวิสาหกิจขนาดย่อมกำหนดจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 50 คน หรือมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดกลาง จำนวนการจ้างงาน 51-200 คน หรือมูลค่าสินทรัพย์ถาวรเกิน 50 แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท

3.   กิจการค้าส่งและค้าปลีก  หมายถึง การให้บริการเกี่ยวกับการค้า โดยที่การค้าส่ง หมายถึง การขายสินค้าใหม่ สินค้าใช้แล้วให้แก่ ผู้ค้าปลีก ผู้ใช้ในงานอุตสาหกรรม งานพาณิชยกรรม สถาบัน ผู้ใช้ในงานวิชาชีพ และรวมทั้งการขายให้แก่ผู้ค้าส่งด้วยกันเอง ส่วนการค้าปลีก หมายถึง การขายโดยไม่มีการเปลี่ยนรูปสินค้าทั้งสินค้าใหม่และสินค้าใช้แล้วให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อการบริโภคหรือการใช้ประโยชน์เฉพาะส่วนบุคคลในครัวเรือน การค้าในที่นี้มีความหมายรวมถึง การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนการซื้อขาย  สถานีบริการน้ำมัน และสหกรณ์ผู้บริโภค โดยมีข้อกำหนดสำหรับวิสาหกิจขนาดย่อมสำหรับกิจการค้าปลีก กำหนดจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 15 คน หรือมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 30 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดกลาง จำนวนการจ้างงาน 16-30 คน หรือมูลค่าสินทรัพย์ถาวรเกิน 30 แต่ไม่เกิน 60 ล้านบาท ข้อกำหนดสำหรับกิจการค้าส่ง กำหนดจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 25 คน หรือมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดกลาง จำนวนการจ้างงาน 26-50 คน หรือมูลค่าสินทรัพย์ถาวรเกิน 50 แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท

  1. การจัดการสภาพคล่องทางการเงิน หมายถึง การรักษาสภาวะของกิจการให้สถานะเงินสดเพียงพอต่อการดำเนินกิจการในแต่ละวัน โดยไม่มีปัญหาการขาดแคลนเงินสด ซึ่งจะต้องรักษาระดับเงินสดคงเหลือให้คงอยู่ในแต่ละวัน
  2. วิกฤตเศรษฐกิจโลก หมายถึง ภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบไปยังประเทศต่างๆ อาทิเช่น วิกฤติทางการเงินในประเทศไทย  วิกฤติค่าเงินรูเบิลในรัสเซีย  วิกฤติวิกฤตภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่น วิกฤตตลาดทุนจีน วิกฤตภาวะหนี้สาธารณะของกรีซ วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น
  3. วิกฤตตลาดทุนจีน หมายถึง วิกฤติที่เกิดจากภาวะการที่ตลาดหุ้นจีนมีมูลค่าลดลงโดยเกิดจากภาวะฟองสบู่จากการลงทุนของนักลงทุนจีนที่สูงเกินจริงส่งผลให้เกิดการตกลงของของราคาหุ้นอย่างรวดเร็ว โดยตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยคิดตามมูลค่าของบริษัทได้ลดลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตลาดเซิ่นเจิ้นที่มีขนาดเล็กกว่า มีมูลค่าของบริษัทได้ลดลงกว่า 31 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา 

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. (2558). คำนิยาม ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. สืบค้นเมื่อ 3 กันยายน 2558, จาก http://www.sme.go.th/Pages/Define.aspx

  1. วิกฤตภาวะหนี้สาธารณะของกรีซ หมายถึง ภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นกับประเทศกรีซ ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในกลุ่มยูโรโซนที่ประสบปัญหาภาวะหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาลจนไม่สามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้โดยวิกฤติได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552 ที่ผ่านมา
  2. วิกฤตภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่น หมายถึง ภาวะเงินฝืดที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจหลังภาวะฟองสบู่ ที่บังคับให้ภาคการเงินและภาคธุรกิจของญี่ปุ่นต้องลดหนี้ (
  3. วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หมายถึง วิกฤติที่เริ่มจากการที่ภาวะฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐอเมริกาแตกและเกิดการผิดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพรม์และสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวของผู้บริโภคในตลาดที่อยู่อาศัย ที่เริ่มต้นขึ้นในช่วง พ.ศ. 2548 – พ.ศ. 2549 และทำให้ปัญหาทางการเงินนั้นแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วโลกในปี พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2551
  4. วิกฤตค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย หมายถึง วิกฤติอันเกิดจากการที่รัสเซียได้เข้าไปบุกรุกและยึดครองแคว้นไครเมียให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย ทำให้สหรัฐฯและชาติยุโรป เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี เป็นต้น ได้ร่วมกันออกมาตรการคว่ำบาตร จนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของรัสเซียทำให้เกิดการขาดดุลการค้าและส่งผลกระทบต่อค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลงอย่างมาก โดยเริ่มวิกฤติตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา

  1. ทบทวนวรรณกรรม

                        ในห้วงระยะเวลานับตั้งแต่วิกฤติการณ์ทางการเงินปี พ.ศ.2540 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้ประกอบการของไทยต่างได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐอเมริกา วิกฤตภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่น  วิกฤตค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย  วิกฤตภาวะหนี้สาธารณะของกรีซ วิกฤตตลาดทุนจีน โดยวิกฤติต่างๆที่เกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs  ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงยิ่งกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ โดยมูลค่าการส่งออกของผู้ประกอบการ SMEs  ไทยในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบันได้ลดลงอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อจีดีพีของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ (ภาพที่ 1 และ ตารางที่ 1)  ในขณะที่ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของภาครัฐหรือเอกชนก็จะไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เนื่องจากงบประมาณภาครัฐลดลงจากผลกระทบของโครงการต่างๆในอดีตที่ผ่านมาที่เป็นภาระหนี้สาธารณะของประเทศและจำเป็นต้องสำรองไว้ ทำให้งบประมาณในการลงทุนมีไม่มาก  ขณะที่ภาคเอกชนยังคงชะลอการลงทุนอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่สูงจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ  ในส่วนของการบริโภคของประชาชนก็ลดลงจากกำลังซื้อที่ลดลงไปและความไม่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในอนาคตทำให้ประชาชนไม่กล้าที่จะใช้จ่ายเท่าที่ควร คงเหลือแต่เพียงภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตพอสมควรและสามารถช่วยพยุงฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศได้ในระดับหนึ่ง 

                        ผลการวิจัยและการสำรวจที่เกี่ยวเนื่องกับการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs ในด้านต่างๆ เช่น ผลการศึกษาวิจัยของ อังสนา ประสี และ ขจรวรรณ อิฐรัตน์  (2551) ได้ทำการศึกษาเรื่อง ปัญหาการดําเนินงานและความต้องการการสนับสนุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในจังหวัดนครสวรรค์ พบว่าสภาพธุรกิจในปัจจุบันมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงส่วนใหญ่จะประสบปัญหาทางด้านการเงิน การขาดสภาพคล่อง เงินทุนไม่เพียงพอ และขาดแหล่งเงินทุน มีช่องทางการจําหน่ายสินค้าในท้องถิ่นค่อนข้างน้อย และกําลังซื้อภายในประเทศและความต้องการในตลาดลดลงเนื่ องจากภาวะเศรษฐกิจ วัตถุดิบมีราคาแพง ค่าขนส่ง มีราคาสูง น้ำมันแพงขึ้น ขาดแรงงานที่มีฝีมือหรือมีทักษะ

                        ศิริวรรณ ว่องวีรวุฒิ และอารมณ์  ริ้วอินทร์ (2554) ได้เขียนบทความร่วมกัน เรื่อง เงินทุนหมุนเวียน ทางเลือกและทางรอดของ SMEs โดยให้ข้อสรุปที่สำคัญว่า  เงินทุนหมุนเวียนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อความอยู่รอดและเจริญเติบโตของ SMEs  เนื่องจากการบริหารเงินทุนหมุนเวียนจะมีผลต่อความเสี่ยงและความสามารถในการทำ กำไรของ SMEs หากผู้ประกอบการเลือกแนวทางการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่ถูกต้องเหมาะสมกับประเภทของกิจการ ตรงกับ ลักษณะและทัศนคติของผู้ประกอบการ โดยคำนึงถึงยอดขายและ สภาวะการแข่งขันของตลาด ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายการ ดำเนินงานและความสามารถในการจัดหาเงินทุนจากแหล่งเงินทุน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

                        นันทนา คินิมาน(2546) ได้ทำการศึกษา เรื่อง ความต้องการพัฒนาศักยภาพในการประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่วนใหญ่พบปัญหาสำคัญที่สุด คือ เงินทุนหมุนเวียนมีไม่เพียงพอ

                        ในขณะที่ผลการศึกษาในส่วนของนโยบายรัฐบาลและสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs พบว่า สฤษดิ์ มนัสสกุล(2550) ได้ทำการวิจัยในเรื่อง นโยบายรัฐบาลเพื่อการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สำหรับผู้ประกอบการ พบว่านโยบายที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้านการเงิน คือ การช่วยเหลือทางการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ไม่มีความพร้อมในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเอกชนอันเกิดจากศักยภาพของผู้ประกอบการทั้งในด้านหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ไม่เพียงพอ ประสบการณ์และความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยกว่าคู่แข่งขัน  และผลประกอบการที่ต้องมีกำไรต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2 ปี เป็นต้น ในขณะที่แหล่งเงินกู้นอกระบบ มีภาระต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ยที่สูง อันเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์ทางการเงินย่ำแย่ลงไปอีก  ทวีศักดิ์ ฐานบัญชา(2545) ได้ทำการศึกษาเรื่อง บทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจากการขาดแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินเอกชน อันเนื่องจากการขาดระบบบัญชีการเงินที่ถูกต้องและขั้นตอนการกู้ของธนาคารที่มีมากจนทำให้ผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องกู้จากนอกระบบทำให้มีต้นทุนดอกเบี้ยที่สูง เพิ่มเกียรติ อัชฌาเจริญสถิต (2544) ได้ทำการศึกษาถึง บทบาทของสถาบันการเงินของรัฐในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) พบว่า สถาบันการเงินของภาครัฐมีส่วนสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในมาตรการระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่ในด้านการปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินซึ่งอาจไม่ช่วยในการสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว

การจัดการสภาพคล่องทางการเงินสำหรับ ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก

ผู้ประกอบการ SMEs ไทยต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในสถานการณ์ต่างๆ และสร้างปัญหาสำคัญ คือ ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน อันส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนหนึ่งไม่สามารถประคับประคองธุรกิจของตนเองให้อยู่รอดไปได้   จึงขอนำเสนอแนวทางในการบริหารจัดการการเงินด้าน การบริหารเงินสด  และการบริหารทุนหมุนเวียนให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อผู้ประกอบการ SMEs อย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้

  1. การบริหารเงินสด

        การบริหารเงินสด หมายถึง การบริหารจัดการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการเก็บรวบรวมเงินสด การจ่ายเงินสด และการลงทุนในหลักทรัพย์ชั่วคราวของเงินสด ผ่านการจัดทำงบประมาณเงินสด เพื่อใช้พยากรณ์ความต้องการเงินสดในอนาคตและการควบคุม การดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามงบประมาณ นอกจากนี้งบประมาณเงินสดของกิจการต้องรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น รายการค้าที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน จำนวนเงินสดคงเหลือในบัญชี รายการจ่ายเงินสด ยอดเงินคงเหลือในแต่ละเดือน จากแนวคิดในการบริหารเงินสดที่กล่าวมา  สามารถกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติที่ผู้ประกอบการ SMEs ควรจะนำมาประยุกต์ใช้ในกิจการของตน เพื่อให้การบริหารเงินสดเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ดังนี้

        1.1 การเร่งเงินสดรับเข้า  โดยผู้ประกอบการ SMEs จะต้องกำหนดแนวทางและมาตรการในการที่จะให้เงินสดไหลเข้าสู่กิจการในแต่ละวันอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อดำรงสถานะเงินสดรับสุทธิเป็นบวก (เงินสดรับมากกว่าเงินสดจ่าย) โดยการจัดทำงบประมาณเงินสดรายวันเพื่อเป็นตัวควบคุมตรวจสอบสถานะเงินสดในแต่ละวัน การเร่งเงินสดรับเข้า สามารถทำได้ในหลายรูปแบบ แต่แหล่งเงินสดหลักของกิจการจะมาจากรายได้จากการขาย ดังนั้นผู้ประกอบการ SMEs จะต้องพยายามทำอย่างไรก็ตามให้ยอดขายโดยเฉลี่ยในแต่ละเดือนสูงกว่ารายจ่าย  แต่ยอดขายและรายจ่ายเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีที่อาจไม่ได้รับเป็นเงินสดจริงเนื่องจากยอดขายบางส่วนเป็นการขายเชื่อ ในขณะที่รายจ่ายบางส่วนก็เป็นการจ่ายเชื่อเช่นกัน  ดังนั้นในการเร่งเงินสดรับเข้าจะต้องทำอย่างไรให้ยอดขายสดเพิ่มขึ้นโดยการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ เช่น การลดราคา  ชิงรางวัล  มีของแถม  เป็นต้น โดยจะต้องเป็นการทำกิจกรรมเหล่านี้ ณ จุดขายเพื่อเป็นการเร่งให้ลูกค้าซื้อเป็นเงินสดให้มากที่สุด แต่กรณีนี้จะได้ประโยชน์ทันทีถ้าผู้ประกอบการ SMEs เป็นผู้ขายเองโดยไม่ผ่านเครือข่ายร้านค้าส่งหรือร้านค้าปลีก  ซึ่งถ้าผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นจะต้องจำหน่ายผ่านเครือข่ายร้านค้าส่งและร้านค้าปลีก ก็จำเป็นจะต้องมีการเจรจาต่อรองกับเครือข่ายเหล่านี้ในการที่จะเร่งการชำระเงินค่าสินค้าที่ขายได้ให้เร็วขึ้นและแน่นอนว่าจะต้องทำการส่งเสริมการขายอีกเช่นกัน  แต่เป็นการส่งเสริมการขายกับเครือข่ายร้านค้า เช่น การให้ส่วนลดเงินสด  การกระตุ้นการจ่ายชำระเป็นเงินสดผ่านกิจกรรมชิงรางวัลหรือการให้รางวัล(incentive) ต่างๆ เพื่อจูงใจ เช่น การจัดนำเที่ยวให้กับเครือข่ายร้านค้าที่ชำระเงินสดได้ตามเป้าที่กำหนด  การสะสมยอดชำระเงินสดเพื่อชิงรางวัลตอบแทน เป็นต้น เพื่อเป็นเครื่องมือให้เครือข่ายแต่ละร้านมีโอกาสแข่งขันกันเองทั้งในการสร้างยอดขายและยอดชำระสินค้าให้เร็วขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเครือข่ายร้านค้าเหล่านี้จะร่วมมือมากหรือน้อยขึ้นกับว่า ตราสินค้ามียอดขายสูงเพียงใด ถ้าผู้ประกอบการ SMEs สามารถทำยอดขายได้สูงผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ก็จะมีอำนาจต่อรองที่จะให้เครือข่ายร้านค้าเหล่านี้ชำระค่าสินค้าเร็วขึ้นได้

        1.2 การชะลอเงินสดจ่ายออก เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้กิจการมีสถานะเงินสดรับสุทธิเป็นบวกได้ ซึ่งแนวทางนี้อาจจะใช้ได้ดีในช่วงสภาวะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบทางลบทำให้ยอดขายลดลง การชะลอการจ่ายเงินสดออกจึงเป็นแนวทางที่จำเป็น โดยเงินสดจ่ายออกที่เป็นตัวหลัก คือ ค่าวัตถุดิบ  ค่าใช้จ่ายในการผลิต(ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ) ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ(เงินเดือน ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น)  ซึ่งในทางปฏิบัติผู้ประกอบการ SMEs สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การขอความร่วมมือกับผู้จำหน่ายวัตถุดิบในการชำระค่าวัตถุดิบล่าช้าออกไปโดยแลกกับการสั่งซื้อในจำนวนที่เพิ่มขึ้นทดแทนโดยการเซ็นสัญญาซื้อล่วงหน้าแต่อาจให้ทางผู้จำหน่ายวัตถุดิบเป็นผู้เก็บวัตถุดิบไว้แทน ซึ่งกรณีนี้จะใช้กับวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้แน่นอนและไม่หมดอายุ   การผ่อนชำระค่าใช้จ่ายในการผลิตในบางรายการที่สามารถทำได้หรือการชำระเป็นบัตรเครดิตแทนการจ่ายเงินสด   การเลื่อนการชำระค่าเช่าต่างๆ เป็นรายปีแทนรายเดือนโดยแลกเปลี่ยนกับการทำสัญญาเช่าในระยะยาวขึ้น  การขอความร่วมมือกับพนักงานในการจ่ายเงินเดือนล่าช้าออกไปแต่ชดเชยดอกเบี้ยให้สำหรับบางคนที่สามารถร่วมมือกับกิจการได้  การให้วันหยุดทดแทนการจ่ายโบนัส  การเพิ่มประสิทธิภาพในการวัดผลงานของพนักงานเพื่อให้สามารถให้ค่าตอบแทนพนักงานได้อย่างเหมาะสมโดยจะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดผลงาน(KPI) อย่างเป็นรูปธรรมและวัดได้จริง อันจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถแยกแยะพนักงานที่มีประสิทธิภาพให้คงอยู่กับองค์การและตัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสมออกไปได้  เป็นต้น

        1.3 การดำรงรักษาเงินสดขั้นต่ำ  เป็นแนวทางในการควบคุมให้สถานะเงินสดรับสุทธิเป็นบวกผ่านการดำรงเงินสดขั้นต่ำที่กิจการจำเป็นจะต้องมีไว้ โดยแนวทางปฏิบัติ การกำหนดเงินสดขั้นต่ำ จะต้องดูการหมุนเวียนของเงินสดในธุรกิจ ซึ่งดูได้จาก วงจรเงินสด และอัตราการหมุนเวียนของเงินสด ว่าเป็นอย่างไร แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าควรจะกำหนดเงินสดขั้นต่ำของธุรกิจเท่าไรจึงจะเหมาะสม โดยสูตรในการคำนวณวงจรเงินสด คือ

วงจรเงินสดของธุรกิจ* = อายุสินค้า + ระยะเวลาเรียกเก็บหนี้ – ระยะเวลาชำระหนี้

อัตราการหมุนเวียนของเงินสด**        =   จำนวนวันใน 1 ปี/วงจรเงินสดของธุรกิจ

โดยผู้ประกอบการ SMEs สามารถคำนวณเงินสดขั้นต่ำที่ต้องการใช้ในการดำเนินงาน ได้ดังนี้

เงินสดขั้นต่ำ**                                       =  เงินสดที่ต้องใช้ในการบริหารต่อปี/อัตราการหมุนเวียนของเงินสด

                ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการ SMEs จะต้องหาตัวเลขเงินสดที่ต้องใช้ต่อปีให้ได้ก่อน โดยตัวเลขนี้จะเกิดขึ้นได้จาการทำงบประมาณเงินสดที่จะต้องมีการประมาณการล่วงหน้าเป็นรายปี แต่จะต้องมีการปรับตัวเลขทุกไตรมาสเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในการดำเนินกิจการจริง เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวนสูง ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการ SMEs จะต้องมีการวางแผนในการทำงบประมาณเงินสดในหลากหลายมุมมองตามแนวทางการพยากรณ์แบบ Scenario (Scenario Forecasting) โดยเป็นการกำหนดยอดขายในมุมมอง 3 แนวทาง คือ แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุด (Most likely)  แนวทางมุมมองเป็นบวก (Best case) และแนวทางมุมมองเป็นลบ (Worst case) โดยแนวทางที่ควรนำมาเป็นตัวกำหนดเงินสดขั้นต่ำในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ควรเป็นตัวเลขจากแนวทางมุมมองเป็นลบผสมผสานกับแนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุด  ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยในการดำรงสภาพคล่องได้อย่างดีที่สุด  ขอยกตัวอย่างแนวทางในการคำนวณงบประมาณเงินสดขั้นต่ำ ดังนี้

*ที่มา :  www.investopedia.com . (2015). DEFINITION OF ‘CASH CONVERSION CYCLE – CCC’, ค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2558, จากhttp://www.investopedia.com/terms/c/cashconversioncycle.asp

**ที่มา : BAYSHORE MANAGEMENT PARTNERS. Howard Fletcher. (2007). Cash Flow Part 5 – Estimating Cash Requirements. ค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2558, จาก http://www.howard-fletcher.com/uploads/Cash_Flow_Part_5_-_Estimating_Cash_Requirements.pdf

บริษัท ปรองดอง จำกัด (สมมติ) จำหน่ายสินค้า โดยอายุสินค้าเฉลี่ย 75 วัน มีระยะเวลาในการเรียกเก็บหนี้ 45 วันและระยะเวลาชำระหนี้ ให้เจ้าหนี้ 60 วัน ถ้าบริษัทคาดคะเนว่าจะต้องใช้เงินสดสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินงาน   ประมาณปีละ 1,200,000 บาท   (1 ปี  = 360 วัน ) การคำนวณเงินสดขั้นต่ำสามารถทำได้ดังต่อไปนี้

                                วงจรเงินสด                            = อายุสินค้า + ระยะเวลาเรียกเก็บหนี้ – ระยะเวลาชำระหนี้

                                                                                =  75 + 45 -60

                                                                                =  60 วัน

                อัตราการหมุนเวียนของเงินสด            =  จำนวนวันใน 1 ปี/วงจรเงินสด

                                                                                =   360/60 หรือเท่ากับ  6 ครั้งหรือรอบ

                เงินสดขั้นต่ำ                                           =   เงินสดที่ต้องใช้ต่อปี/อัตราการหมุนเวียนของเงินสด

                เงินสดขั้นต่ำ                                           =  1,200,000/6        หรือเท่ากับ    200,000  บาท

                        ดังนั้น เงินสดขั้นต่ำที่ต้องมีไว้ใช้ในการดำเนินงานเท่ากับ 200,000 บาท

                        จากแนวทางปฏิบัติและตัวอย่างข้างต้น จะเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถรักษาสถานะเงินสดของตนเองให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการดำรงสภาพคล่องของกิจการให้อยู่รอดปลอดภัยภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจโลกและปัจจัยลบที่เกิดจากวิกฤติภายในประเทศได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง  นอกจากนี้สถาบันการเงินจะต้องเข้าไปช่วยเหลือผ่านแนวทางการผ่อนชำระหนี้ เช่น การลดภาระหนี้หรือลดดอกเบี้ยเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เหล่านี้สามารถลดภาระการจ่ายเงินสดออกหรือยืดระยะเวลาในการจ่ายออกไปได้  การเปลี่ยนแปลงหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว   การเพิ่มวงเงินสินเชื่อ  เป็นต้น

  1. การบริหารทุนหมุนเวียน

        การบริหารทุนหมุนเวียน หมายถึง การรักษาสภาพคล่องให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับธุรกิจ หรือ หมายถึง การนำแหล่งเงินระยะสั้นมาลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนให้อยู่ในสถานะที่มีสภาพคล่องเพียงพอ นั่นหมายถึงมีเงินสดเพียงพอต่อการดำรงกิจการให้อยู่รอดไปได้ โดยที่สินทรัพย์หมุนเวียนส่วนใหญ่จะเป็นสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากยอดขาย ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ และเงินสดหรือเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ  ส่วนแหล่งเงินระยะสั้นเป็นส่วนที่มาจากหนี้สินหมุนเวียนซึ่งอาจมาจากหนี้สินระยะสั้น เจ้าหนี้การค้าหรือค่าใช้จ่ายค้างจ่าย  ดังนั้นการบริหารทุนหมุนเวียนให้มีสภาพคล่องจึงเป็นการทำให้กิจการมีเงินสดคงเหลือเพียงพอต่อการดำเนินกิจการ 

        ในส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียน สามารถแบ่งย่อยเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนถาวรและสินทรัพย์หมุนเวียนผันแปร โดยสินทรัพย์หมุนเวียนถาวร จะหมายถึง สินทรัพย์หมุนเวียนในส่วนที่มีความจำเป็นต้องดำรงอยู่ค่อนข้างแน่นอน และสินทรัพย์หมุนเวียนผันแปรหมายถึงสินทรัพย์หมุนเวียนในส่วนที่อาจมีการดำรงอยู่มากหรือน้อยขึ้นกับสถานการณ์จากปัจจัยภายในและภายนอกอื่นๆ เช่น ยอดขาย สภาวะเศรษฐกิจ ฤดูกาล เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น สินค้าบางประเภทยอดขายจะขึ้นกับฤดูกาล เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูกาลของสินค้าๆนั้นจะมียอดขายที่สูงขึ้นทันที แต่ในช่วงเวลาอื่นนอกฤดูกาลยอดขายจะต่ำลง ดังนั้นยอดขายส่วนที่เพิ่มขึ้นจากยอดขายช่วงนอกฤดูกาล อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนที่ทำให้เกิดสินทรัพย์หมุนเวียนผันแปร  ในขณะที่ยอดขายในช่วงฤดูกาล อาจเรียกว่าเป็นส่วนที่ทำให้เกิดสินทรัพย์หมุนเวียนถาวร โดยทั้งสองส่วนนี้อาจอยู่ในรูปของเงินสด สินค้าคงเหลือหรือลูกหนี้การค้าก็ได้

        ในแนวทางเชิงปฏิบัติของการบริหารทุนหมุนเวียน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs สามารถดำเนินนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนได้ 3 รูปแบบ คือ

1. นโยบายแบสมดุล (Hedging  Policy)     

เป็นนโยบายการจัดสรรเงินทุนโดยนำเงินทุนหมุนเวียนถาวร ซื่งมาจากแหล่งเงินทุนระยะยาวมาใช้ในสินทรัพย์หมุนเวียนส่วนถาวรและสินทรัพย์ถาวร  และนำเงินทุนหมุนเวียนผันแปร ซึ่งมาจากแหล่งเงินทุนระยะสั้นมาใช้ในสินทรัพย์หมุนเวียนส่วนผันแปร  ซึ่งการจัดสรรแบบนี้จะต้องพยายามกำหนดระยะเวลาของแหล่งเงินทุนระยะสั้นให้ครบกำหนดพร้อมๆกับอายุของสินทรัพย์หมุนเวียนส่วนผันแปร  จะเป็นการลดต้นทุนทางการเงินได้มากและเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด  เช่น การขายผลไม้หรือสินค้าที่เป็นไปตามฤดูกาล ก็จะต้องพยายามจัดสรรแหล่งเงินทุนระยะสั้นมาใช้ในช่วงที่เป็นฤดูกาลขาย ซึ่งเป็นช่วงที่สินค้ามีมากในตลาด ในกรณีนี้จะใช้เงินจากทั้ง 2 แหล่งในลักษณะพอดี เรียกว่า ไม่มีส่วนเกินความปลอดภัย (Zero Margin of Safety)  ซึ่งแนวนโยบายนี้เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความสามารถในการแข่งขันที่อยู่ระดับกลางหรือไม่โดดเด่นแต่ก็ไม่ด้อยกว่าคู่แข่ง 

2. นโยบายแบบระมัดระวัง (Conservative  Policy)

แนวทางการบริหารทุนหมุนเวียนแนวทางนี้ ผู้ประกอบการ SMEs จะลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากแหล่งเงินทุนระยะสั้นที่ลงในสินทรัพย์หมุนเวียนผันแปร  โดยนำแหล่งเงินทุนระยะยาวมาลงในสินทรัพย์หมุนเวียนผันแปรบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงเนื่องจากอาจหาแหล่งเงินทุนระยะสั้นได้ไม่เพียงพอ  และจะทำให้มีส่วนเกินที่เหลือสำหรับแหล่งเงินทุนระยะสั้นที่มาใช้ในยามฉุกเฉินได้  เรียกว่า มี ส่วนเกินเพื่อความปลอดภัย (Positive Margin of Safety) วิธีนี้จะมีสภาพคล่องสูง และมีเงินสดคงเหลือ แต่ต้นทุนทางการเงินจะสูงเนื่องจากมีการใช้เงินจากแหล่งเงินทุนระยะยาวซึ่งมีต้นทุนดอกเบี้ยสูงกว่าแหล่งเงินทุนระยะสั้นมาลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนผันแปร  อาจส่งผลทำให้กำไรของธุรกิจมีน้อยลงไป  ซึ่งแนวนโยบายนี้เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความสามารถในการแข่งขันที่อยู่ระดับต่ำกว่าคู่แข่ง

3. นโยบายแบบกล้าเสี่ยง (Aggressive Policy)

เป็นนโยบายที่ผู้ประกอบการ SMEs  ใช้แหล่งเงินทุนระยะสั้นมาลงในสินทรัพย์หมุนเวียนส่วนถาวรบางส่วน  ทำให้ต้องใช้แหล่งเงินทุนระยะสั้นมากกว่าปกติซึ่งอาจเกิดปัญหาในการหาเงินส่วนนี้มาได้ในบางช่วงที่เกิดภาวะวิกฤติและอาจส่งผลให้เกิดการขาดสภาพคล่องไป  นอกจากนี้การกู้ยืมแหล่งระยะสั้นที่จะต้องมีการต่อระยะเวลาเงินกู้อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนดอกเบี้ยที่ไม่แน่นอนซึ่งอาจสูงขึ้นหรือต่ำลงก็ได้  แต่อาจได้ประโยชน์ในด้านที่ต้นทุนดอกเบี้ยจะถูกกว่าแหล่งเงินทุนระยะยาว  ซึ่งนโยบายนี้จะทำให้เกิดส่วนขาดเพื่อความปลอดภัย (Negative Margin of  Safety)  ธุรกิจที่ใช้นโยบายแบบนี้อาจได้กำไรสูงขึ้นแต่ความเสี่ยงจะมากขึ้นด้วยจากการขาดสภาพคล่องเนื่องจากพึ่งพาแหล่งเงินทุนระยะสั้นที่มีความไม่แน่นอนสูงกว่าแหล่งเงินทุนระยะยาว  แต่จะช่วยให้กิจการมีโอกาสสร้างกำไรได้มากกว่าเช่นกัน ซึ่งแนวนโยบายนี้เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความสามารถในการแข่งขันที่อยู่ระดับสูงกว่าคู่แข่งหรือมีความโดดเด่นเป็นผู้นำในธุรกิจ

แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยสถาบันการเงิน

ในส่วนของสถาบันการเงินภาคเอกชนสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการบริหารทุนหมุนเวียน ได้โดยการกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการ SMEs  เช่น ในภาวะที่ผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ สถาบันการเงินอาจช่วยเหลือโดยการปล่อยกู้ระยะยาวทดแทนระยะสั้นเพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการ SMEs แต่สถาบันการเงินจะได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยจะสูงขึ้นเป็นการชดเชย  การลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวลงบ้างเพื่อลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถอยู่รอดไปได้  การขยายระยะเวลาในการปล่อยกู้ระยะสั้นให้ยาวขึ้น  ในขณะเดียวกันเจ้าหนี้การค้าของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งอาจเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ สามารถช่วยเหลือโดยการผ่อนปรนระยะเวลาในการเรียกเก็บหนี้ให้ยาวขึ้นได้โดยเฉพาะเจ้าหน้าการค้าที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสถานะทางการเงินที่มั่นคงกว่า

ในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐ สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs  ในด้านการบริหารเงินสด ผ่านนโยบายต่างๆ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว การขยายเวลาชำระหนี้  ซึ่งถือเป็นมาตรการระยะสั้น ในขณะเดียวกันมาตรการระยะยาวจะต้องมีการช่วยเหลือในการหาแหล่งเงินทุนระยะยาวให้กับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านนโยบายต่างๆ เช่น การทำโครงการร่วมลงทุนระหว่างผู้ประกอบการ SMEs กับผู้ประกอบการรายใหญ่(Venture capital)  การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ในห่วงโซ่อุปทานโดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่คุณค่า(Value Chain)  การร่วมทุนข้ามชาติระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ของไทยกับผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในต่างประเทศที่มีศักยภาพ (Business matching)   เป็นต้น

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายภาครัฐในการบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs

                        ภาครัฐจำเป็นจะต้องเข้าช่วยเหลือด้วยเช่นกัน โดยผ่านการกำหนดเป็นนโยบายหรือมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือด้วยการปล่อยสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs)  ของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน  ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs Bank) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (EXIM Bank) เป็นต้น เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs บางส่วนไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินเอกชนได้ และในเชิงปฏิบัติมาตรการของภาครัฐที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs สามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ  การยืดเวลาในการผ่อนชำระหนี้  การลดหนี้ในบางกรณีให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำธุรกิจที่ยังมีแนวโน้มที่ดีในอนาคต  เป็นต้น แต่มาตรการที่กล่าวมาเป็นมาตรการระยะสั้นที่เป็นการต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ให้ยังสามารถอยู่รอดได้เท่านั้น  ภาครัฐจำเป็นจะต้องมีมาตรการระยะยาวที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้ เช่น  การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการผ่านการช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐในการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพและความแตกต่าง  การจัดระบบที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยจะต้องมีตัวชี้วัดผลงานที่ชัดเจนมากำกับ  การช่วยเหลือในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในบางด้านที่จำเป็น   การสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อเกิดความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ให้รวมกลุ่มกันสร้างความเข้มแข็งในการต่อรองกับคู่ค้า  การสร้างเครือข่ายโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจบริการอย่างจริงจังและเป็นเครือข่ายที่ไทยสามารถแข่งขันได้ เป็นต้น 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ควรจะมีการเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ ที่เรียกว่า “ธุรกิจออนไลน์” หรือ “อีคอมเมิร์ซ” (E-commerce บางทีเรียกว่า พาณิชย์อิเลคทรอนิคส์) โดยรูปแบบความสัมพันธ์ของผู้ขายกับลูกค้าอาจจะเป็นแบบผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการด้วยกัน (Business to Business : B2B) หรือ ผู้ประกอบการกับผู้บริโภค (Business to Consumer : B2C) โดยเฉพาะรูปแบบ B2C  การชำระเงินจะเป็นในลักษณะที่ให้ลูกค้าโอนเงินเป็นเงินสดให้เจ้าของสินค้าผ่านเครือข่าย Internet Banking อันจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับกิจการได้อีกช่องทางหนึ่งเช่นกัน 

บทสรุป

                        วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่วิกฤติการทางการเงินในปี พ.ศ. 2540 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จนถึงวิกฤติการณ์ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ได้ส่งกระทบต่อผู้ประการไทยในการด้านการส่งออกเป็นอย่างมาก โดยผลกระทบในแต่ละครั้งได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่มีองค์ความรู้และความพร้อมในการยืนหยัดต่อภาวะวิกฤติเหล่านี้ ต้องล้มละลายและเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลกระทบที่เด่นชัดเกิดจากปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ ภาวะการขาดสภาพคล่องทางการเงิน

        ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการ SMEs จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในแต่ละเหตุการณ์ไปได้นั้น การบริหารสภาพคล่อง ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการบริหารเงินสดและการบริหารทุนหมุนเวียน โดยผู้ประกอบการ SMEs จะต้องมีองค์ความรู้และแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ทั้งในด้านการบริหารเงินสดผ่านการเร่งเงินสดรับเข้า ชะลอการจ่ายเงินสดออกและการดำรงรักษาเงินสดขั้นต่ำ  โดยจะต้องมีการจัดทำงบประมาณเงินสดเพื่อเป็นตัววัดและติดตามควบคุมสถานะเงินสดของตนเองอย่างใกล้ชิด  ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการ SMEs จะต้องมีการบริหารทุนหมุนเวียนตามแนวนโยบายที่สอดคล้องกับสถานะของผู้ประกอบการ SMEs เอง ผ่านแนวนโยบาย 3 รูปแบบ   คือ   1. นโยบายแบสมดุล(Hedging  Policy) ซึ่งเป็นนโยบายการจัดสรรเงินทุนโดยนำเงินทุนหมุนเวียนถาวร ซื่งมาจากแหล่งเงินทุนระยะยาวมาใช้ในสินทรัพย์หมุนเวียนส่วนถาวรและสินทรัพย์ถาวร  และนำเงินทุนหมุนเวียนผันแปร ซึ่งมาจากแหล่งเงินทุนระยะสั้นมาใช้ในสินทรัพย์หมุนเวียนส่วนผันแปร 2.นโยบายแบบระมัดระวัง(Conservative  Policy) โดยนำแหล่งเงินทุนระยะยาวมาลงในสินทรัพย์หมุนเวียนผันแปรบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงเนื่องจากอาจหาแหล่งเงินทุนระยะสั้นได้ไม่เพียงพอ  และจะทำให้มีส่วนเกินที่เหลือสำหรับแหล่งเงินทุนระยะสั้นที่มาใช้ในยามฉุกเฉินได้    และ 3. นโยบายแบบกล้าเสี่ยง (Aggressive Policy)  ใช้แหล่งเงินทุนระยะสั้นมาลงในสินทรัพย์หมุนเวียนส่วนถาวรบางส่วน 

                        นอกจากนี้สถาบันการเงินจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ด้วยเช่นกันผ่านแนวทางทั้งทางด้านการบริหารเงินสดและการบริหารทุนหมุนเวียน โดยช่วยเหลือในด้านแนวนโยบายการลดอัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาว  การขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ให้ยาวขึ้นหรือการแบ่งชำระหนี้เป็นงวด  การปรับโครงสร้างภาระหนี้ 

                        ในขณะที่ภาครัฐจะต้องช่วยเหลือทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว  โดยมาตรการระยะสั้นจะเป็นมาตรการที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ โดยใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว การขยายเวลาชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นเป็นระยะยาว  และมาตรการระยะยาว เช่น การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการผ่านการช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐในการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการ  การจัดระบบที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการ SMEs  การช่วยเหลือในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้กับผู้ประกอบการ SMEs การสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ SMEs  การสร้างเครือข่ายโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจบริการ การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้ทำการตลาดผ่านเครือข่ายออนไลน์ทั้งในรูปแบบ B2B และ B2C เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ ฐานบัญชา. (2554). บทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2558, จาก ฐานข้อมูล  ชื่อ ฐานข้อมูลงานวิจัย(ThaiLIS).

นันทนา คินิมาน. (2546). ความต้องการพัฒนาศักยภาพในการประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพมหานคร. สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยราชภัฎราช. ค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2558, จาก ฐานข้อมูล  ชื่อ ฐานข้อมูลงานวิจัย(ThaiLIS).

เพิ่มเกียรติ อัชฌาเจริญสถิต. (2544). บทบาทของสถาบันการเงินของรัฐในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs). สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2558, จาก ฐานข้อมูล  ชื่อ ฐานข้อมูลงานวิจัย(ThaiLIS).

มติชนออนไลน์. (2558). มองข้ามวิกฤตกรีซดีไหม จีนต่างหากของจริง จับตา”ฟองสบู่แตก เสี่ยงลามทั้งโลก พิษ ปชช.กู้เงินมาเล่นหุ้น, ค้นเมื่อ 3 กันยายน พ.ศ.2558 จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1436412642

ศิริวรรณ ว่องวีรวุฒิ และอารมณ์  ริ้วอินทร์. (2554). เงินทุนหมุนเวียน ทางเลือกและทางรอดของ SMEs. วารสารนักบริหาร. สืบค้นเมื่อ 3 กันยายน 2558, จาก http://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/jan_mar_13/pdf/aw02.pdf

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. (2558). คำนิยาม ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. สืบค้นเมื่อ 3 กันยายน 2558, จาก http://www.sme.go.th/Pages/Define.aspx

สุรชัย ภัทรบรรเจิด. (2550). ธุรกิจออนไลน์ อีกหนึ่งช่องทางการค้าสำหรับ SMEs (หน้า 119-120).  วารสาร Tips SMEs บริหารจัดการธุรกิจ. กรุงเทพ: บริษัท พิมพ์ดีการพิมพ์ จำกัด.

สฤษดิ์ มนัสสกุล. (2550). นโยบายรัฐบาลเพื่อการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สำหรับผู้ประกอบการ. สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2558, จาก ฐานข้อมูล  ชื่อ ฐานข้อมูลงานวิจัย(ThaiLIS).

หนังสือพิมพ์มติชน. (2558). มองข้ามวิกฤตกรีซดีไหม จีนต่างหากของจริง จับตา”ฟองสบู่แตก เสี่ยงลามทั้งโลก พิษ ปชช.กู้เงินมาเล่นหุ้น. ค้นเมื่อ 3 กันยายน 2558, จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1436412642

อังสนา ประสีและขจรวรรณ อิฐรัตน์. (2551). ปัญหาการดําเนินงานและความต้องการการสนับสนุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในจังหวัดนครสวรรค์. วารสารการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลําปาง. ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม–มิถุนายน 2555. ค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2558, จาก ฐานข้อมูล  ชื่อ ฐานข้อมูลงานวิจัย(ThaiLIS).

BAYSHORE MANAGEMENT PARTNERS. Howard Fletcher. (2007). Cash Flow Part 5 – Estimating Cash Requirements. ค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2558, จาก http://www.howard-fletcher.com/uploads/Cash_Flow_Part_5_-_Estimating_Cash_Requirements.pdf

www.investopedia.com . (2015). DEFINITION OF ‘CASH CONVERSION CYCLE – CCC’, ค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2558, จากhttp://www.investopedia.com/terms/c/cashconversioncycle.asp

ภาพที่ 1 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาคงที่ (GDP at Fixed price 2545) ปี พ.ศ.2553-2557

ประเภทกิจการ 2553 2554 2555 2556 2557
SMEs 8.7 1.3 8.5 3.5 0.2
วิสาหกิจขนาดย่อม 8.4 2.3 8.7 3.8 0.2
วิสาหกิจขนาดกลาง 9.4 -1.1 8 2.9 0.2

                ตารางที่ 1 อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาคงที่ (GDP at Fixed price 2545) ปี พ.ศ.2553-2557

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) , 2558. ประมวลโดย นายสุรชัย  ภัทรบรรเจิด.